108 มงคล







--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภูมิพลอดุลยเดชฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา. 108 มงคล พระบรมราโชวาท.  กรุงเทพฯ :
               อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2556.  218 หน้า.  ภาพประกอบ.  ราคา 199 บาท

               108 มงคล พระบรมราโชวาทได้รวบรวมพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวเนื่องกับหลักคิดในการดำเนินชีวิตที่ทรงพระราชทานต่อคนไทยเพื่อใช้เตือนใจ และใช้เป็นแสงสว่างเป็นมงคลต่อชีวิต นับเป็นเครื่องชี้แนะอันมีค่าที่คนไทยทั้งปวงจะน้อมนำมาใช้เป็นหลักเพื่อความสุขและความมั่นคงของชีวิตอย่างยั่งยืน

                 895.915
                  ภ671ร                    
                 ห้องหนังสือในหลวง    
                  มกราคม 2559

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                 “ ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์ ”
    อยากให้คนที่รักได้อ่านหนังสือเล่มนี้เพราะเนื้อหาภายในกล่าวถึงพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้เป็นข้อคิดในการดำเนินชีวิต โดยมีหลักชัยคือความสุขสงบพอเพียงและไม่ท้อถอย อยากมอบหนังสือเล่มนี้ให้กับคนที่รักในเทศกาลปีใหม่ได้อ่านแล้วน้อมนำไปปรับใช้ เพื่อชีวิตสงบสุขมั่นคงยั่งยืน
    ส่วนตัวแล้ว ดิฉันรู้สึกโชคดีที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระโพธิสมภาร ได้มีพระองค์เป็นตัวอย่างให้ดำเนินรอยตาม โดยพระบรมราโชวาทของพระองค์ถือเป็นสิ่งมีค่าที่เราทุกคนควรน้อมนำมาใช้เป็นหลักการดำเนินชีวิตเพื่อความสุขและความมั่นคงของชีวิตอย่างยั่งยืน
“ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”
    นี่คือพระบรมราชโองการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คนไทยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อถึงวันนี้พระราชกรณียกิจซึ่งทรงกระทำ ทุกพระบรมราโชวาทล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทั้งสิ้น
     นับเป็นโชคดีของพสกนิกรปวงชนชาวไทยทุกหมู่ เหล่า ที่ได้มีพระองค์ทรงเป็นหลักชัยเป็นตัวอย่างและให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตหลายๆเรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ให้และผู้สร้างความสงบสุขแก่ประชาชนและแผ่นดินของพระองค์ พระองค์ทรงให้ประชาชนของพระองค์ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือคำว่า พอ คนเราถ้าพอใจในความต้องการ มันก็จะมีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็จะเบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมากมีของหรูได้ แต่ต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น
    การประหยัดคือหลักประกันของชีวิต การใช้จ่ายอย่างประหยัดเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดและครอบครัวเพื่อให้อยู่รอดและก้าวหน้าต่อไป ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า ทั้งยังเป็นการประหยัดแก่ประเทศชาติด้วย
     การให้คือเครื่องประสานไมตรี การให้เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคลและให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยความสามัคคี
เอื้อเฟื้อมุ่งดีต่อกันสังคมก็จะร่มเย็นและน่าอยู่ สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุขน่าอยู่
     มีความสุจริตและความมุ่งมั่นจึงจะทำงานสำคัญได้สำเร็จ คนไม่มีความสุจริตไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่ายไม่มีวันที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ ผู้มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้นจึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ
     สัจวาจาคือรากฐานของการประสบความสำเร็จ สัจวาจานั้นเป็นรากฐานของการทำงาน สัจ เป็นการตั้งใจ วาจา เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นออกมาจากใจคือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น
    พัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับเพื่อให้ชีวิตเป็นสุขรุ่งเรือง คนเรานั้นสำคัญอยู่ที่ควรจะได้ปรารภปรารถนาที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้ชีวิตเป็นสุขและเจริญรุ่งเรือง
     การพูดจริงทำจริงย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไรทำอย่างนั้นจึงจะได้รับความสำเร็จ การพูดแล้วทำคือการพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด
    ความสงบหนักแน่นเป็นเครื่องผ่อนปรนระงับความรุนแรง ความขัดแย้งความไม่เข้าใจในกันและกัน โดยเฉพาะความสงบหนักแน่นในจิตใจนั้นทำให้เกิดความยั้งคิดพิจารณาตามเหตุตามผล จึงช่วยให้สามารถขบคิดวินิจฉัยเรื่องราวปัญหาและการกระทำได้ถูกต้องเหมาะสม มีประสิทธิผล
    มีความรู้ความสามารถหากไม่ลงมือทำก็ไร้ประโยชน์ ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ในทางที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงมือทำ เมื่อยังไม่ลงมือทำประโยชน์ก็ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นหากมีความรู้ความสามารถมากมายเพียงไรแต่หากไม่ลงมือทำก็ปราศจากประโยชน์
    มีความรู้ดีแล้วต้องมีศีลธรรมด้วย การดำเนินชีวิตจะใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดีแต่ขาดความยั้งคิดนำความรู้ไปใช้ทางมิชอบ ก็เท่ากับบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมมนุษย์
     ความสุขความเจริญพึงแสวงหามาด้วยความเป็นธรรม ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้นแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญหรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น
     ความประมาทและการขาดสตินำมาซึ่งความเสื่อมสลาย มีความไม่ประมาทและมีสติรู้ตัวอยู่เสมอเพราะการกระทำโดยประมาทขาดความรอบคอบ เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย ซึ่งเป็นอันตรายมากอาจจะนำความเสีย เสื่อมสลายมาสู่ตนเองตลอดทั้งประเทศชาติได้
    ส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย ไม่ใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีให้ไม่มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้
    ที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ 108 มงคล พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งดิฉันมีความตั้งใจจริงอยากมอบหนังสือดีๆที่ให้ข้อคิดแก่คนที่รักและทุกๆคนได้อ่าน จะมีประโยชน์อย่างมากหากอ่านด้วยความตั้งใจ หนังสือเล่มนี้บอกอะไรหลายอย่างแก่เรา พระบรมราโชวาททั้งหมดที่กล่าวมานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราก็ทรงใช้ดำเนินชีวิตตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเรื่อยมา
ตัวอย่าง 108 ข้อ
1.พอเพียง คือ อยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่เบียดเบียนใคร
      ...คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช่ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ดวยตนเอง แปลจากภาษาฝรั่งได้ว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง หมายความว่าสองขาของเรายืนอยู่บนพื้นที่ได้ไม่หกล้มไม่ต้องขอยืมของคนอื่นเพื่อที่จะยืนอยู่
      ..คำว่า พอ คนเราถ้าพอในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูก็ได้ แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น..
2. การประหยัด คือหลักประกันของชีวิต
...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้นจะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า  การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดี ไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...
3. ประหยัด เพื่อความอยู่รอดและก้าวหน้า
...วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไปมีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เนื่องจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่โดยประหยัด เพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้า ต่อไปได้โดยสวัสดี...
4.เพียรสร้างสรรค์ความดีความเจริญเพื่อประโยชน์และความสุข
     ....ความพากเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรมและพึงประสงค์นั้น คือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีความเจริญให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไปอย่างหนึ่ง
  ....ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อมทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม..
5.กำลังแห่งความเพียร นำไปสู่ความสำเร็จ
     ...ความเพียรที่จะเป็นกำลังได้ต้องมีลักษณะแข็งกล้า ไม่ย่อหย่อนเสื่อมคลายด้วยอุปสรรค ด้วยความยากลำบากเหน็ดเหนื่อยประการใดๆๆ หากแต่อุตสาหะพยายามกระทำเรื่อยไปไม่ถอยหลัง แม้หยุดมือก็ยังพยายามติดต่อไปไม่ทอดธุระ กำลังความเพียรจึงทำให้การงานไม่ชะงักล่าช้า มีแต่ดำเนินรุดหน้าเป็นลำดับไป จนบรรลุความสำเร็จโดยไม่มีสิ่งใดจะยับยั้งขัดขวางได้...
6. วิริยะอุตสาหะ ทำให้เป็นคนขยัน อดทน และทำสิ่งที่ถูกต้อง
   ....ความอุตสาหะ หรือความกล้า เป็นคำที่สำคัญ ต้องกล้าเผชิญตัวเอง เมื่อกล้าเผชิญตัวเอง กล้าที่จะลบล้างความขี้เกียจ เกียจคร้านในตัว หันมาพยายามอุตสาหะก็ได้เป็นวิริยอุตสาหะ วิริยะในทางที่กล้าที่จะค้านตัวเองในความคิดพิเรนทร์ ก็เป็นคนที่มีเหตุผล เป็นคนที่ละอคติต่างๆๆ หมายความว่าเป็นคนที่คิดดี ที่ฉลาด วิริยะในมางที่ไม่ยอมแม้แต่ความเจ็บปวดความกลัวจะมา คุกคามก็ทำสิ่งที่ถูกต้อง..


สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันสอดคล้อง 9 ข้อพ่อสอนไว้ นิสัยแห่งความดี” ด้านต่างๆ  ดังนี้

1. ความเพียร คือ การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง

2. ความพอดี คือ ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน

3. ความรู้ตน เช่น เด็กๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบและคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่างๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญ ให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน

4. คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายถึง คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้

5. อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ เช่น ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

6. พูดจริง ทำจริง คือ ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม

7. หนังสือเป็นออมสิน คือ หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้ มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้

8. ความซื่อสัตย์ คือ ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง

9. การเอาชนะใจตน เช่น ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น